ดอกยางรถยนต์นั้น มีไว้เพื่อยึดเกาะถนน และรีดน้ำขณะขับรถเมื่อถนนเปียก เพื่อให้หน้ายางนั้นสัมผัสพื้นถนน ทำให้การเดินทางนั้นสามารถเดินทางได้อย่างปลอดภัยและไม่ลื่นจนออกถนน นอกจากนี้ยางยังทำหน้าที่กระจายน้ำหนักให้รถยนต์ โดยหน้ายางจะทำหน้าที่กระจายแรงทั้งหมดไปยังทิศทางต่างๆ สู่ผิวถนน ยางรถยนต์ทุกชนิดจะมีดอกยาง ยกเว้นยางรถยนต์ที่ใช้ในการแข่งขันทางเรียบและความเร็วสูง ที่พื้นถนนต้องแห้ง ซึ่งยางประเภทนี้เรียกว่า สลิ้ก (Slick)
• ดอกยาง คือส่วนบริเวณบนหน้ายาง และมีหน้าสัมผัสถนนตลอดเวลาที่รถวิ่ง
• ร่องยาง คือร่องที่ลึกลงไปจากหน้ายาง หรือร่องที่อยู่ระหว่างยาง
ร่องยางที่ตื้น (ดอกยางหมด) หรือที่เรียกกันว่า ดอกยางโล้น จะทำให้ยางนั้นรีดน้ำได้น้อยลงและลื่นเมื่อเจอสภาพถนนที่เปียกหรือฝนตก เพราะร่องยางนั้นมีไว้เพื่อรีดน้ำ แต่เมื่อวิ่งในถนนที่แห้งและแดดจัด จะวิ่งได้ดีกว่า เพราะยางมีหน้าสัมผัสพื้นถนนมากกว่า ดอกยางที่ดีควรมีความลึกไม่น้อยกว่า 3 มม. ซึ่งขึ้นอยู่กับความลึกของน้ำบนผิวถนน และความเร็วของรถด้วย ส่วนอายุของยางไม่ควรเกิน 5 ปี นับจากวันที่ผลิต หากครบหรือเกิน ควรรีบเปลี่ยนทันทีเพื่อความปลอดภัย
ประเภทของดอกยาง มีการแบ่งออกเป็น 4 ประเภท
ดอกยางละเอียด (rib pattern)
มีดอกยางและร่องยาง เป็นแนวแถวเส้นรอบวงของยาง และมีรูแบบเรียงตัวของร่องยาง ตามการออกแบบของบริษัทผู้ผลิต โดยทั่วไปแล้ว เน้นให้ยางใช้งานได้ดีในสภาพถนนเรียบ
ดอกบั้ง (lug pattern)
ดอกยางและร่องยางเป็นแนวขวาง กับเส้นรอบวงของยาง ซึ่งการออกแบบยางเช่นนี้ ต้องการประสิทธ์ภาพในการตะกุย อีกทั้งร่องยางมีความลึก ทำให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน เหมาะสำหรับใช้งานบนถนนที่ขรุขระ และทางเรียบในความเร็วต่ำ และปานกลาง
ดอกแบบผสม (rib lug pattern)
เป็นการผสมจุดเด่นของยางทั้งสองแบบ ดอกละเอียดจะอยู่ตรงกลาง โดยมีดอกบั้งอยู่รอบนอกทั้งสองด้าน
ดอกแบบบล็อก (block pattern)
ดอกยางประเภทนี้ มีลักษณะเป็นจุด หรือก้อน อาจมีรูปทรงแบบวงกลม หรือเหลี่ยมก็ได้ ให้แรงตะกุยสูง เหมาะสำหรับใช้งานแบบออฟโรดทั้งลุยโคลนและทราย
นอกจากนี้ดอกยางรถยนต์ยังแบ่งตามลักษณะของดอกยางได้อีก 3 ลักษณะคือ
1. ดอกยางแบบ 2 ทิศทาง (Non-Directional) “นุ่ม เงียบ นิ่ง”
ดอกยางลักษณะนี้ จะค่อนข้างเป็นดอกละเอียด มีดอกยางสวนทางกัน จึงไม่เน้นในเรื่องของความเร็วสูงมากนัก สามารถทำการสลับยางได้ทุกตำแหน่ง แนะนำให้สลับทุก 10,000 กิโลเมตร จุดเด่นของยางลักษณะนี้ จะเน้นความนุ่มสบาย (Comfort) สไตล์ผู้บริหารเป็นหลัก มีเสียงค่อนข้างเงียบสุดเมื่อสัมผัสพื้นถนน แต่ขอแนะนำว่า ดอกยางประเภทนี้ อาจไม่เหมาะกับนักขับที่เท้าหนักกว่าสมองสักเท่าไหร่ เพราะสไตล์นุ่มนิ่มของยางก็มักมีอาการโยนตัวของรถเป็นของแถมมาด้วย
2. ดอกยางแบบทิศทางเดียว (Directional) “ซิ่ง วิ่ง หนึบ”
ดอกยางจะมีลักษณะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ยางแบบนี้ มักมีลูกศรเพื่อบอกทิศทางการหมุนของยางมาด้วย เพื่อประโยชน์เมื่อต้องสลับยาง จำเป็นต้องดูทิศทางของลูกศรให้ถูกต้อง เพราะจะมีผลอย่างมากต่อประสิทธิภาพ และอายุของยางประเภทนี้ ลวดลายของดอกยาง ค่อนข้างมีแนวโน้มไปทางแนวสปอร์ต ดอกยางประเภทนี้ จะมีประสิทธิภาพในการยึดเกาะบนถนน และรีดน้ำได้ดีมากกว่ารูปแบบแรก เพื่อควบคุมการขับขี่ได้อย่างมั่นคงและสามารถใช้ความเร็วสูงได้ดีจุดเด่นของยางลักษณะนี้คือ ประสิทธิภาพในการรีดน้ำ และรักษาสมดุลของรถในช่วงความเร็วสูงได้อย่างยอดเยี่ยม จึงเหมาะด้วยประการทั้งปวง กับผู้ขับขี่ที่ชื่นชอบการกระแทกคันเร่งเป็นชีวิตจิตใจ และหลงใหลในความเร็ว
3. ดอกยางแบบไม่สมมาตรกัน (Asymmetric) “โค้ง เหนียว หนึบ”
ลายดอกยางด้านในและด้านนอกจะมีความต่างกัน ซึ่งเกิดจากการออกแบบให้หน้ายางด้านในเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการขับขี่ทางตรง และความเร็วสูง ขณะที่หน้ายางด้านนอกจะทำหน้าที่ยึดเกาะบนทางโค้งได้ดี ยางประเภทนี้ จึงเหมาะสำหรับเมืองที่มีถนนโค้งคดเคี้ยวมากๆ หรือ เหมาะสำหรับในรถยนต์บางยี่ห้อที่ออกแบบให้การขับขี่ มีการเข้าโค้งในความเร็วสูง แต่สำหรับบ้านเราก็อาจมีไม่มากนักจุดเด่นของยางประเภทนี้คือ ให้ความมั่นใจในการยึดเกาะ และรักษาสมดุลของรถในขณะโยนตัวและเมื่อเข้าโค้งได้ดี ก็จะสามารถลดและป้องกันอาการดื้อโค้ง หรือหลุดโค้ง อันเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของการสูญเสียในการเดินทางผ่านถนนอันคดเคี้ยว
เมื่อเข้าใจลักษณะดอกยางรถยนต์แล้ว คุณก็สามารถเลือกดอกยางให้ตรงกับการใช้งาน และควรหมั่นตรวจสอบดอกยางรถยนต์ของคุณให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา เพื่อความปลอดภัย และลดอุบัติเหตุ
Credit: www.deestone.com, www.thairat.co.th, https://www.skilldriving-imc.com/
รูปภาพ: www.deestone.com